วัดสำปะซิว

วัดสำปะซิว 

    มีผู้เฒ่าผู้แก่เล่าขานต่อๆกันมาว่า เดิมสถานที่แห่งนี้ เป็นสถานที่ ที่กองทัพไทย ใน “ องค์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ” ได้มาหยุดพักรบ เพื่อตรวจสอบบัญชีจำนวนทหารในกองทัพว่า มีจำนวนทหารที่สูญหายจากการทำศึก
เท่าใด และมีจำนวนทหารเหลืออยู่เท่าใด ซึ่งประชาชนในสมัยนั้นเรียกสถานที่แห่งนี้ว่า “ สางบัญชี “ จึงตั้งชื่อวัดแห่งนี้ว่า “ วัดสางบัญชี “ เนื่องจากสาเหตุอันใดไม่ทราบ ได้ทำให้การเรียกชื่อวัดแห่งนี้ผิดเพี้ยนไปจากเดิม จากชื่อว่า “ วัดสางบัญชี “ เป็น
 “ วัดสำปะซิว “ มาจนถึงทุกวันนี้

 
 

 

         

ประวัติวัดสำปะซิว

   วัดสำปะซิว สร้างเมื่อปีพุทธศักราช ๑๘๕๗ ยุคสมัยประวัติศาสตร์ ( อยุธยาตอนต้น) ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อพุทธศักราช ๑๘๖๐
ตั้งอยู่เลขที่ ๑๐๑ หมู่ ๓ ตำบลสนามชัย อำเภอเมืองสุพรรณบุรี จังหวัดสุพรรณบุรี เนื้อที่ประมาณ ๒๐ ไร่เศษ

   ภายในวัดสำปะซิว ยังมีการขุดพบแหล่งโบราณคดี เป็นแหล่งที่ตั้งเตาเผาภาชนะดินเผา ( ประวัติศาสตร์สมัยอยุธยา )
ซึ่งเตาเผาอิฐเป็นแบบระบายความร้อนผ่านเฉียงขึ้น ซึ่งสามารถเผาภาชนะดินเผาเนื้อแกร่งแบบเคลือบและแบบไม่เคลือบได้ตั้งอยู่ริมฝั่ง
แม่น้ำท่าจีนทั้ง๒ฝั่งเพราะสะดวก ในการขนส่งวัตถุดิบต่างๆทางเรือนับว่าเป็นสินค้าส่งออกลักษณะของดินเกิดจากวัตถุต้นกำเนิดดิน
ที่ถูกการเคลื่อนย้ายพัดพามา จึงทำให้ดินมีคุณภาพดีเหมาะสำหรับในการทำภาชนะดินเผาเคยขุดค้นพบเศษเครื่องสังคโลกและเครื่องถ้วยจีน
ซึ่งนำมาเป็นตัวอย่าง ในการผลิตประเภทถ้วยชามส่วนหม้อไหมีลักษณะเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวเอง

สถานที่สำคัญ และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ภายในวัด

๑. หลวงพ่อทองสัมฤทธิ์ ได้ถูกพบ เมื่อปีพุทธศักราช ๒๔๙๕ เป็นพระพุทธรูปเก่าแก่โบราณ
มีมาแต่บรรพกาล สมัยทวารวดี อายุ ๑,๐๐๐ กว่าปี เป็นพระพุทธรูปที่ศักดิ์สิทธิ์แห่งยุคสมัย
ด้วยว่ามีพลังอานุภาพมาก แผ่รัศมีแห่งสรรพพัณรังสี ด้วยมหาเมตตาธิคุณ องค์หลวงพ่อหล่อด้วย
นวโลหะเนื้อทองสัมฤทธิ์โบราณ ประกอบด้วยทองมงคล ๙ ประการ เป็นที่แตกตื่นฮือฮากันอย่างมาก
แก่ผู้ที่รู้ข่าวและได้มาพบเห็นพากันมาบูชาสักการะจำนวนมาก ใครมากราบไหว้บูชาขอในสิ่งใด
สำเร็จในสิ่งนั้น สมดังชื่อหลวงพ่อทองสัมฤทธิ์ มีความหมายแปลว่า สำเร็จ สมหวัง สมปรารถนา
   หลวงพ่อทองสัมฤทธิ์เป็นพระพุทธรูปที่ใครได้เข้ามาสักการะ พูดทำนองเสียงเดียวกันว่า
เข้มขลังศักดิ์สิทธิ์มีความงดงามแบบโบราณบรรพกาล ยิ่งด้วยกว่านั้นเป็นพระพุทธรูปที่มี
พุทธลักษณะปางพุทธรูปที่พิเศษแปลกอัศจรรย์กว่าพระพุทธรูปปางใดๆในสยามประเทศ
ซึ่งมีให้เห็นไม่ปรากฏบ่อยนัก ที่จะมีพระพุทธรูปปางเช่นนี้ ด้วยว่า ลักษณะของหลวงพ่อทองสัมฤทธิ์
นั่งอย่างสง่างาม บนฐานแท่นบังลังก์บัวคว่ำบัวหงายขัดสมาธิเพชร
๒. หลวงพ่อสมปรารถนา เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย สร้างด้วยทองสัมฤทธิ์
เป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ ประดิษฐานในอุโบสถ  มีอายุ ๖๙๕ ปี เป็นที่เคารพ
สักการะแด่ท่านสาธุชนทั่วไปที่มีความปรารถนาขอในสิ่งที่ตนเองตั้งใจ แล้วมักจะสมปรารถนาในสิ่งนั้น
จึงมีการถวายพระนามว่าหลวงพ่อสมปรารถนา โดยเฉพาะในเรื่องหนี้สิน ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหนี้
หรือลูกหนี้ ก็สามารถบนบานให้สมความปรารถนาได้ หลวงพ่อสมปรารถนา จึงมีพระนามอีกชื่อหนึ่งว่า
หลวงพ่อสางบัญชี
๓. อุโบสถ เป็นอุโบสถหลังเก่าที่มีอายุถึง ๖๙๕ ปี โดยได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์แล้วเป็นอย่างดี ภายในประดับด้วยโคมไฟ แก้วเจียระไน ผนังด้านในมีการเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนัง โดยช่างฝีมือจากวิทยาลัยในวังชาย โดยเฉพาะภาพจิตรกรรมฝีพระหัตถ์ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ ที่วิจิตรสวยงามยิ่งนัก ประตู-หน้าต่างอุโบสถ เขียนภาพลายรดน้ำที่ใช้ทองคำแท้ ถือว่าเป็นภาพจิตรกรรมไทยที่สวยงามที่สุดอีกแห่งหนึ่งของสยามประเทศ
๔. วิหารฐานสำเภา (มหาอุต) เป็นวิหารที่สร้างในสมัยกรุงศรีอยุธยา
ฐานของวิหารโค้งเหมือนฐานของเรือสำเภา เป็นสถาปัตยกรรมที่หาชมได้ยากในปัจจุบัน
เป็นวิหารฐานสำเภาเพียงแห่งเดียวที่มีในเมืองสุพรรณบุรี ภายในประดิษฐานรอยพระพุทธบาทจำลอง
และพระพุทธรูปหินทรายเก่าแก่ ศิลปะโบราณ ปางต่างๆเป็นจำนวนมาก


๕. เจดีย์โบราณรอบวิหารฐานสำเภา ด้านหน้า เป็นเจดีย์ที่มีความสวยงามยิ่ง หน้าบรรณทั้ง ๔
ด้านประดิษฐานตราครุฑ จึงมีการสันนิษฐานว่า เป็นเจดีย์ที่พระมหากษัตริย์ หรือเชื้อพระวงษ์ทรงสร้างไว้
เพื่อบรรจุพระอัฐิ และของมีค่า ตลอดจนพระเครื่องจึงเป็นที่มาของกรุ พระสมเด็จ และพระนางพญา
พิมพ์คะแนน ด้านข้าง สันนิษฐานว่าเป็นเจดีย์ทีบรรจุอัฐิของคฤหบดี เศรษฐีผู้มั่งคั่ง
โดยลักษณะของเจดีย์มีรูปแบบต่างๆกัน เช่น เจดีย์ที่เป็นรูปเรือสำเภา เป็นต้น ด้านหลัง
เป็นเจดีย์สามพี่น้อง ลักษณะเป็นศิลปะสมัยกรุงศรีอยุธยา ปูนปั้น ย่อมุมไม้สิบสอง
เป็นเจดีย์ที่มีความสมบูรณ์และมีความงามยิ่ง
๖. พระพุทธชินราช และ พระพุทธโสธร ( จำลอง ) พระประธานประจำหอสวดมนต์
หล่อด้วยเนื้อทองเหลือง ลงรักปิดทองคำแท้ เป็นที่เคารพ กราบไหว้บูชา
ของประชาชนชาวจังหวัดสุพรรณบุรี ที่ไม่มีโอกาสไปกราบบูชาสักการะพระพุทธชินราชองค์จริง
ที่จังหวัดพิษณุโลก และพระพุทธโสธรองค์จริง ที่จังหวัดฉะเชิงเทรา
๗. รูปหล่อพระครูสุวรรณคุณสาร (สำรวย คเวสโก) หลวงพ่อเต๋ย อดีตเจ้าอาวาสวัดสำปะซิว รูปที่ ๗
พระผู้สร้างวัดสำปะซิว ให้มีถาวรวัตถุที่มั่งคง ตั้งแต่ปีพุทธศักราช ๒๕๐๐ – ๒๕๔๒
เป็นที่เจริญศรัทธาของสาธุชนทั่วไป และเป็นพระผู้มากด้วยเมตตาบารมี
เป็นพระสงฆ์ที่ควรค่าแก่การกราบไหว้บูชา เป็นอดีตบูรพาจารย์ที่สำคัญยิ่งของวัดสำปะซิว
โดยเฉพาะอย่างยิ่งความอัศจรรย์ด้าน ปากพระร่วง ของหลวงพ่อ
๘. พระพิฆเณศ เทพเจ้าแห่งศิลปิน “ ผู้ใดต้องการความสำเร็จ ให้บูชาพระพิฆเณศ
ผู้ใดต้องการพ้นจากความขัดข้องทั้งปวง ให้บูชาพระพิฆเณศ " ( วาทะแห่งพระศิวะมหาเทพ )
๙. พระสิวลี เทพเจ้าแห่งโชคลาภ พระอรหันต์ผู้มีลาภมาก เนื้อนวโลหะ ลักษณะงดงามวิจิตรยิ่งนัก
ไม่เหมือนสถานที่อื่น เป็นแบบที่ช่างฝีมือได้ปั้นขึ้นใหม่ โดยใช้ศิลปะแบบรัตนโกสินทร์ตอนต้น
ผู้ใดใคร่กราบไหว้บูชา มีไว้สักการะที่บ้าน ผู้นั้นฯจะเป็นผู้ที่มีความปรารถนาสำเร็จ ผู้มีศรัทธาควรมีไว้ติดกาย
หรือประจำบ้านเรือน ผู้นั้นถือว่าจะมีโชคลาภ สักการะนานัปการ ด้วยอิทธิฤทธิ์ความอัศจรรย์ของพระสิวลี
คาถา (นะโม ๓ จบ) นะชาลีติ นะติลีชา นะมามีมา นะมะหาลาภา
๑๐. อาศรมพราหมณ์พ่อปู่ชูชก รุ่น กินบ้านครองเมือง ขนาดสูง ๒ เมตร
เทพเจ้าแห่งการขอได้สำเร็จ ลักษณะพิเศษของพ่อปู่ชูชก มีไม้เท้า หมายถึง
มีมนุษย์คอยช่วยเหลือ ค้ำชูตลอดเวลา มีย่าม หมายถึง มีสมบัติมาก มีเงินทองมาก
รักษาทรัพย์ได้ดี มีพุง หมายถึง ความสมบูรณ์ มีกิน มีใช้ ไม่อดอยาก ยากจน จึงเป็นที่มาของ
คนมีเสน่ห์ มีโชคลาภมาก มีข้าวปลาอาหาร มีบ้านเรือน และบริวารมาก จะขออะไรใครเขาก็ให้
ขอให้ได้งาน ขอให้มีโชคลาภ ขอกำไรในการประกอบกิจการงานด้านต่างๆ
เพื่อความสมบูรณ์ขอชีวิต และครอบครัวอันเป็นที่รัก ผู้ใดใคร่บูชาสักการะ หวังในเรื่องเสี่ยงโชค
เสี่ยงลาภ ของานให้กิจการเดินหน้า ให้มาจุดธูป บนบาน กราบขอพราหมณ์พ่อปู่ชูชก
เพื่อเพิ่มความสำเร็จในชีวิต และการงาน
๑๑. ศาลาเรือนแพ เป็นศาลาที่อยู่บนแม่น้ำสุพรรณ (แม่น้ำท่าจีน) สร้างด้วยไม้ทั้งหลัง
ขัดพื้นอย่างดี เป็นสถานที่พักผ่อนกายให้สบายจิต เป็นที่สร้างมหาทานบารมี
เพราะมีปลาจำนวนมากให้ท่านบริจาคอาหาร เป็นการต่ออายุ สืบชะตา
ด้วยพุทธวจนะมงคลที่สำคัญว่า ทำบุญแล้วต้องทำทานด้วย เพื่อความเป็นศุภมหามงคลแห่งชีวิต
 
๑๒. พระบรมสารีริกธาตุ ได้รับถวายมาจากหลวงพ่อสนอง เจ้าอาวาสวัดสังฆทานธรรม
เป็นสิ่งที่ควรค่าแก่การสักการบูชาเหนือเศียรเกล้า ผู้ใดใคร่ถวายผ้าไตรบูชา
ผู้นั้นย่อมมีบุญญาธิการสูงส่ง

 

 

เมนูผู้ดูแลเว็บไซต์



ลิขสิทธิ์ © 2565 องค์การบริหารส่วนตำบลสนามชัย จังหวัดสุพรรณบุรี สงวนไว้ซึ่งสิทธิทั้งหมด.
องค์การบริหารส่วนตำบลสนามชัย อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี โทร. 035-535363

นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล